การสร้างสถานการณ์จำลอง

Developing Scenairo 

การจำลองสถานการณ์ เป็นขั้นตอน ถัดมาจากการเขียนแผนฉุกเฉิน ซึ่งในบทความก่อนหน้านี้ผมได้หยิบยกเรื่องราวของการทำแผนฉุกเฉินที่โรงไฟฟ้า และเรื่องของพวกหมวกสีทองมาส่วนหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่า แผนฉุกเฉินต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ถ้าในยามปกติ ไม่มีใครในโรงงานคุณใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อกัน มันก็เปล่าประโยชน์ที่คุณจะซ้อมแผนฉุกเฉินโดยการไปเช่าวิทยุสื่อสารมาให้บรรดาทีมดับเพลิง ทีมประสานงาน ทีมช่วยเหลือ ทีมปฐมพยาบาลถือกันเวลาซ้อม เพราะมันไม่สมเหตุสมผล ต่อให้คุณสร้างฉากจำลองเหตุการณ์สมจริงราวกับกองถ่ายละครจากฮอลลีวูด ก้ไม่ได้ช่วยให้แผนฉุกเฉินของคุณใกล้เคียงความจริง เพราะสถานการณ์จำลองไม่ได้ช่วยในการทดสอบสิ่งที่คุณเขียนไว้ในแผนเลยแม้แต่น้อย
ตรงกันข้าม สถานการณ์จำลอง ต้องมาจากข้อเท็จจริง มาจากข้อมูล มาจากการวิเคราะห์ก่อนที่จะเขียนแผนเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทั้งเดือน ทั้งสัปดาห์ พวกหมวกสีทองแทบไม่เคยโผล่หน้ามาโรงงานเลย แล้วคุณจะเขียนไปในแผนให้พวกเขาเหล่านั้นมีหน้าที่สั่งการในแผน มันไม่สมเหตุสมผล คนที่จะมีหน้าที่ในการสั่งการควรจะเป็นคนที่ทำงานอยู่ที่นั่นเป็นประจำมากกว่าใครอื่น บางคนอาจจะแย้งว่า ให้หัวหน้ากะเนี่ยนะ มีอำนาจสั่งการ ทำไมไม่ให้ผู้อำนวยการ ท่านประธานเป็นคนสั่ง ก็แล้วแต่คุณสิครับ แผนของคุณ เขียนว่ายังไง ผมไม่ก้าวก่าย แต่แค่จะบอกว่า เวลาจะซ้อมก็จำลองเหตุการณ์ให้สามารถทดสอบสิ่งที่คุณเขียนให้มากที่สุดและมีความสอดคล้องกับความเสี่ยงที่วิเคราะห็ไว้แต่แรกให้มากที่สุด

ยกตัวอย่างกรณีบริษัทแก็สแห่งหนึ่ง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ตึก พีเอสทาวเวอร์ บนถนนอโศกสุขุมวิท ทุกๆปีจะมีการซ้อมการอพยพหนีไฟลงจากตึก โดยจ้างบริษัทขายเครื่องดับเพลิงรายหนึ่งมาทำการซ้อมให้เป็นประจำ ก่อนการซ้อมจะเริ่ม ผมก็สังเกตุเห็นว่ามีการเตรียมเช่าวิทยุสื่อสาร ติดต่อบริษัทถ่ายวิดีโอ ช่างแต่งหน้าตัวละคร มีการเตรียมชุดดับเพลิง เช่าถังดับเพลิงมาเป็นจำนวนมาก ธงหลากสีถูกนำมาเตรียมไว้ในสำนักงาน บรรดาผู้ที่ถุกกำหนดไว้ในแผนให้เป็นผู้นำอพยพ ได้รับแจกหมวกเซฟตี้มีสติกเกอร์ติดว่า Evacuation Leader, บางคนได้หมวกสีทอง (อีกแล้ว) เขียนว่า Emergency Commander ซึ่งพวกนี้ผมไม่ค่อยเห้นหน้า เพราะทำงานอยู่สาขาอื่นๆนอก กรุงเทพ แผนฉุกเฉินเขียนไว้ให้คนเหล่นนี้ทำหน้าที่ในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ทุกคนได้รับแจกวิทยุสื่อสารคนละเครื่อง ก่อนการซ้อมจะเกิดขึ้น ผมเรียกประชุมและสอบถามจากผู้ที่เตรียมการสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดว่า เหตุใดต้องเช่าวิทยุ ทั้งๆที่ในวันปกติไม่มีใครใช้วิทยุ เหตุใดต้องมีชุดดับเพลิง และเรื่องอื่นๆมากมาย



ลิฟท์ขึ้นลง มีทางหนีไฟขนาบด้านข้าง
 ผมถามเขาว่า คุณทราบไหมว่าระบบสัญญานเตือนภัยของตึกนี้เป็นแบบไหน เป็น Smoke detector, Heat Detector, หรือผสมกัน คุณทราบไหมว่าถ้ามีไฟไหม้ขึ้นที่ใดที่หนึ่งในตึก สัญญานจะดังพร้อมกันทั้งตึกหรือถูกหน่วงเวลาให้ดังชั้นที่เกิดเหตุ และชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปกับชั้นที่อยู่ล่างลงมาหนึ่งชั้น
มีใครทราบไหมว่าบันไดหนีไฟที่ขนาบข้างไปกับปล่องลิฟท์ของตึกดังกล่าวถูกออกแบบมาให้เป็น Positive Pressure เพราะมี Blower ขนาดใหญ่อยู่บนยอดตึกเพื่อป้องกันควันทะลักเข้า Stair well   มีใครทราบไหมว่า Blower ที่ผมพูดถึงไม่ได้อยู่ในสภาพใช้การได้ มอร์เตอร์ไม่มี ถูกถอดออกไปนานเท่าไหร่แล้ว ประตูหนีไฟที่จะต้องเป็นแบบ Self closing อยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้ เพราะบริษัทอื่นๆที่เช่าตึกเดียวกัน ใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับพนักงาน และเปิดประตูค้างไว้ตลอด ที่สำคัญบริษัทนั้นทำป้าย สิ่งพิมพ์ มีสี ทินเนอร์ สารไวไฟมากมาย ไม่มีใครเช็คเลยว่าไฟฉุกเฉินที่ติดตั้งในทางลง บันไดหนีไฟใช้การได้เพียงแค่สองตัว จากทั้งหมด สามสิบกว่าตัว ผมถามข้อมูลเหล่านี้จากผู้ที่เขียนแผนฉุกเฉิน และผู้ที่รับจ้างซ้อมแผนฉุกเฉิน ไม่มีใครตอบได้เลย แม้แต่เซฟตี้เจ้าของตึก

หากเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง สัญญานเตือนภัยจะดังขึ้นที่ชั้นนั้น และอีกสองชั้นบน ล่าง เหมือนแซนด์วิทช์ เพื่อให้ทีมฉุกเฉินของตึกได้ทำการตรวจสองจาก Fire Annunciator แล้วเข้าระงับเหตุ แต่ปรากฏว่า Annuaciator กลับถูกติดตั้งไว้ในห้องเล็กๆ ชั้นล่างสุด ที่ไม่มีใครดูแลเลยแม้แต่คนเดียว ถ้าไฟไหม้จริง กว่าชั้นอื่นๆจะได้รับการเตือนภัย ไฟก็ลามไปในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะเกือบทุกชั้นมีพื้นเป็นพรม ใยสังเคราะห์ ควันไฟจากการเผาไหม้จะทะลักเข้าสู่ชั้นอื่นๆในเวลารวดเร็ว เพราะประตูหนีไฟเปิดค้างไว้ ประกอบกับ Blower ที่จะสร้าง Positive Pressure ไม่ทำงาน ดังนั้นปล่องบันไดจะเต็มไปด้วยควันไฟ มิหนำซ้ำ เมื่อทำการตัดไฟ ในนั้นจะมืดสนิท เพราะไม่มีไฟฉุกเฉิน คนที่อยู่ชั้น สูงๆอย่างชั้นสามสิบ คงลำบากมากที่จะลงถึงชั้นล่างอย่างปลอดภัย รถกระเช้าของ กทม. สูงที่สุดก็ได้แค่ชั้นที่แปด  ผมถามพวกเขาว่าแล้วคุณจะหนีไปไหน ครับชั้นดาดฟ้า ไปดูกันก่อนดีไหม ผมถ่ายรูปมาให้ดูแล้ว ชั้นดาดฟ้า มีราวกั้นโดยรอบ ไม่สะดวกต่อการลงจอดของเฮลิคอบเตอร์ อ้าว หลายๆคนร้อง หนีขึ้นข้างบนอาจะรอด แต่ขึ้นกับว่า เฮลิคอบเตอร์จะพาคุณออกไปได้สักกี่คน

พวกสาวแก่แม่ยกยิ่งน่าห่วง เพราะใส่ส้นสูงมาทำงาน ไม่มีใครพกรองเท้ากีฬาไว้ใต้โต๊ะทำงานเลย หากเกิดไฟไหม้ตึกสูง สปริงเกลอร์ทำงาน บนพื้นจะมีน้ำขัง หาก Floor drain ระบายน้ำไม่ดีจะยิ่งอันตราย เศษกระจก ของมีคม อะไรมากมายที่จะต้องลุยลงไปตามทางหนีไฟมืดๆ และเต็มไปด้วยควัน

เอาเป็นว่า วิทยุที่เช่ามา ชุดที่เช่ามา ธงที่เพิงเอามาวาง ไม่ได้สะท้อนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงๆเลย แผนไม่ได้เขียนถึงสิ่งที่ผมชี้ให้ดูเลย  และถ้าเกิดจริง ผมรับรองได้ครับ นับกันไม่หวาดไม่ไหว

ที่ผมทราบก็คือ ตึกสูงในกรุงเทพ มีสภาพคล้ายๆกันนี่แหละครับ เพราะฉะนั้น เวลาเขียนแผนหนีไฟ หาข้อมูลให้ครบ ก่อนลงมือเขียน เพื่อที่ว่า ฉากระทึกขวัยที่ถ่ายวิดีโอไว้ได้แต่ละปี มันสมจริง ซะจนเสียวเลยละครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ALARP

IT for Safety management system

Emergency Pre-Planning