ไอ้ห่า AIHA

เมื่อครั้งอยู่โรงไฟฟ้า บทความเรื่องทฤษฎี "อีสามตัว" (3 E Theory) ถูกตีกลับมาอย่างไร้เยื่อใย บทความเซฟตี้ถูกแทนที่ด้วยมุม Gossip เรื่อง หมาของเจ้านาย น่ารักจังเลย (ยังแค้นไม่หาย) ด้วยข้อหาใช้คำไม่สุภาพ วันนี้เลยเอาคำว่า ไอ้ห่า ไอฮ๊า ไอฮา แล้วแต่จะออกเสียงออกแอคเซ้นท์ ตามสบายครับ (AIHA)มาเล่าให้ฟัง เพราะยังงัยเสียก็ไม่มีใครบังอาจมาเซ็นเซอร์ข้อความเราอยู่แล้ว


ฉบับนี้ขอระบายความในใจกันหน่อยด้วยเหตุผลสองสามข้อ ประการแรกก็คือ เพื่อเล่าสู่กันฟังในกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพ แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า ต่อให้เอาลิงค์ไปโพสต์ไว้ในเฟสบุคบ้าง ตามเว็บบอร์ดบ้าง ก็น้อยนักที่จะมีคนอ่าน ยิ่งเป็นเรื่องวิชาการ ฝันไปเถอะครับ ประการที่สองเพื่อเปรียบเทียบให้ดูว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาเป็นอย่างไรในการบริหารวิชาชีพ เรื่อง Occupational Health and Safety ถ้าเป็นวิชาการมากๆมันน่าเบื่อ ถ้าเป็นการบรรยายในห้องเรียน มาแนววิชาการล้วนๆ รับรองครับ หลับหมด

 ผมมาสะดุดกับบทความของ AIHA - American Industrial Hygine Association ก็ตอนที่จะสมัครเป็นสมาชิกของไอ้ห่านี่แหละ ขออนุญาตครับ อ่านดูคุณสมบัติของสมาชิก ข้อหนึ่ง จะต้องเป็น Professional Industrial Hygienist ไอ้เรารึก้มั่นใจเต็มร้อย เพราะทั้งชีวิตการทำงาน ก็เป็นเรื่อง ความปลอดภัย สุขภาพ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับ สุขศาสตร์อุตสาหกรรม เรื่องพิษวิทยา เรื่องอาชีวอนามัย พวกนี้เป็นสำคัญ สมัยเรียนก็หนักไปทางการตรวจวัดเสียง ฝุ่น แสง ความร้อน การใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคนิคทาง Industrial Hygiene ทั้งนั้น ปรากฏว่า สมัครไม่ได้ครับ ไม่มีคุณสมบัติครบ (มันบอกว่า)  ทำได้แค่ยื่นใบสมัคร เอาหลักฐานการศึกษา (ตอนแรกคิดว่าปริญญาจากมหิดล สาขาอาชีวอนามัยคง สุดยอดแล้ว) ที่ไหนได้ ไอ้ห่า มันไม่รู้จัก ครับเรื่องจริง
"A professional industrial hygienist is a person possessing either a baccalaureate degree in engineering, chemistry, or physics or a baccalaureate degree in a closely related biological or physical science from an accredited college or university, who also has a minimum of three years of industrial hygiene experience."

เรื่องของเรื่องก็คือ ปริญญาของเรา ไม่ได้อยู่ในข่ายที่เรียกว่า Accredited University ดังนั้น การจะเอาประสบการณ์ กับความรู้หรือปริญญาจากเมืองไทยมาแล้วดุ่ยๆเข้าไปสมัคร ไม่ได้หรอกครับ กรณีนี้ ต้องเอารายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ทำที่ระบุชัดเจนว่าทำงานเกี่ยวข้องกับ Industrial Hygiene อย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นของงานทั้งหมด มาประกอบกับ หนังสือรับรองจากทาง CIE - Coucil of International Education มาแสดงครับ ผมได้ส่งทรานสคริปท์ปริญญาตรี สาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้เขาตีราคาไปแล้ว และได้รับการตอบกลับมาแล้วว่าเทียบเท่ากับ ปริญาตรีสาธารณสุขศาสตร์ อาชีวอนามัยของสหรัฐอเมริกา และอยู่ระหว่างการสมัคร การประเมินใช้เวลาราวๆสามอาทิตย์
เรื่องทำนองเดียวกัน การจะสมัคร CSP- Certified Safety Professional ก็อีหรอบเดียวกัน วันหลังจะเล่าให้ฟังว่าขั้นตอนเป็นยังงัย

มันเป็นกระบวนการควบคุมคุณภาพของผู้ประกอบอาชีพครับ สำหรับที่สหรัฐอเมริกา ถ้าไม่มีใบรับรองว่าคุณมีคุณสมบัติตรงกับที่กำหนด ยากครับที่จะทำอะไรต่อได้  นี่เรื่องจริงครับไม่เฉพาะสาขานี้เท่านั้น ทุกอย่าง แม้แต่การจะประกาศลงหน้าหนังสือพิมพ์ว่า รับจ้างต่อเติมอาคาร ซ่อมสร้าง รื้อถอน เดินสายไฟ ก่ออิฐ ปูกระเบื้อง ทุกเรื่องครับ มีข้อกำหนดให้ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองทั้งสิ้น ใครขืนไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า ถูกปรับครับ ส่วนพวกที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปทำมั่วๆ ผลงานห่วยแตก นอกจากจะถูกฟ้องโดยลูกค้าจนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ยังถูกขึ้นบัญชีดำ หากินไม่ได้ไปเลยละครับ มันเป็นระบบซะจนเราซึ่งคุ้นเคยกับระบบระเบียบแบบมั่วๆของเรารู้สึกอึดอัด ตอนแรกๆก็ตื่นเต้น ตอนหลังๆมันเซ็ง เพราะที่นี่ หาก๋วยเตี๋ยวข้างทางกิน แบบเมืองไทยไม่ได้ ไอ้ประเภทผัดกันไฟลุกท่วมกระทะ เสร็จแล้วเอาน้ำไปล้างกระทะ เอาแปรงล้างส้วมลงไปคนๆ พอได้รสชาด เทพรวดลงรางระบายน้ำ รึไม่ก็พื้นถนนให้เฉอะแฉะพองาม  ที่นี่ไม่ได้ครับ  มันติดอีตรงระบบ Licencing System ขืนใครไปทำ ติดคุกหัวโต


กลับมาที่เรื่องสาขาอาชีพนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygienist) ที่บ้านเราไม่มีนะครับ ไม่มีอาชีพนี้ในสาระบบ ไม่มีพูดถึงในกฏหมาย ไม่มีข้อกำหนดว่า ไอ้คนที่สะพายเครื่องวัดแก็ส เครื่องวัดเสียงมารับจ้างเรา มันจบอะไรกันมา เท่าที่ผมรู้ ไม่ค่อยมีนักอาชีวอนามัยไปรับจ้างเป็นเด็กเก็บตัวอย่างเท่าไหร่  ระบบการศึกษาของเราคือระบบจับฉ่าย มั่วแต่อร่อย  เราถูกสร้างมาให้ทำได้ทุกอย่าง ทำทุกเรื่อง พอมาเจอแบบนี้ก็อดเคืองไม่ได้ ว่า ไอ้ห่าเอ๊ย เรารึ ทำมาหาแดกแลกเงินเดือนมาก็ด้วยวิชาความรู้และประสบการณ์ ตรงเปะ ดันบอกว่าเราขาดคุณสมบัติ (คิดในใจนะครับ อย่าถือสา นิสัยขี้โวยวายแบบนี้มันติดมาเป็นบุคลิก)
ข้อดีมันก็มีตรงที่ว่า สาขาอาชีพอะไรก็ให้มันชัดเจนไปเลย จะได้ไม่มีใครมั่วนิ่ม รู้จริงบ้างมั่วบ้าง มันอันตราย ข้อเสียก็มีตรงที่ว่าบางทีงานด้านความปลอดภัย สุขภาพและสิ่งแวดล้อมมันผสมปนเป เกี่ยวพันกันไปหมด บางทีเราต้องรอบด้าน ประมาณว่า รู้ลึก รู้ลึก รู้จริง รู้ทุกสิ่งที่ต้องการ ถ้ายืนอึ้งนานๆ แสดงว่า วิชาการอ่อนแอครับ 

เคยมีผู้สมัครรายหนึ่งมาสัมภาษณ์งาน หลังจากสอบถามเรื่องอื่นๆไปแล้ว ผมก็ถามไปว่าจากประสบการณ์ทำงาน คุณเชี่ยวชาญเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เขาก็ตอบว่า การทำงานบนที่สูงครับ ผมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นช่วยอธิบายคำว่า Free Fall Distance ให้ผมฟังเข้าใจง่ายๆหน่อย พอเจอคำถามแบบนี้เข้า แกก็เลยลากลับเอาเสียดื้อๆ ผมก็เลยไม่ได้คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเลย แหม เสียดายจัง

นานมาแล้ว มีรุ่นน้องจากสถาบันเดียวกัน แต่เด็กกว่าผมมาก มาสัมภาษณ์ ไอ้เรารึก็เห็นว่าเป็นน้อง เพิ่งจบใหม่ พยายามถามคำถามที่คิดว่ามันต้องตอบได้แน่ๆ อย่างเช่น ถ้าคุณได้ทำงานที่นี่ คุณจะทำอะไรก่อน น้องเขาก็ตอบว่า ผมก็จะเริ่มทำการตรวจวัด เสียง แสง ความร้อน สารเคมี ครับ ผมก็ถามว่าทำไมละ ทำไมอยู่ๆถึงต้องวัดละครับ น้องก็ตอบว่า อาจาร์ยบอกให้วัดครับ หึๆๆๆ มันตอบแบบนั้นจริงๆ ไอ้ห่า

คนเดียวกันนั่นแหละ ผมเปลี่ยนคำถามใหม่ ให้เข้ากับบุคคลิค เพราะท่าทางจะเป็นเด็กเรียน เข้ามากู( ไอ) จะวัดตะพึดตะพือ

(ไอ) ผมก็วาดสัญลักษณ์ Diamond Code แล้วก็ถามไปว่า อันนี้เป็นสัญลักษณ์อะไร พอจะอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม น้องเค้าตอบว่า มันคือว่าวครับ  บ๊ะ (ไอ้นี่ สงสัยชอบเล่นว่าว ตอบมาได้งัย)

เดี๋ยวนี้ มีโรคจากการทำงานใหม่ๆ ที่นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมน่าจะเข้ามามีบทบาท เสนอมาตรการ เสนอผลงานวิชาการ งานวิจัยให้หน่วยงานที่กำกับดูแลนำไปออกเป็นกฏหมาย มาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างและนายจ้าง กฏหมายของไทย ที่อ้างอิงค่ามาตรฐาน เช่น ค่า TLV, STEL, TLV-C, เหล่านี้ ตัวเลขมันเก่าเหลือเกิน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ฉบับที่แล้ว ผมพูดเรื่องแอสเบสทอสเพื่อเป็นตัวอย่าง

ทีอเมริกา นักวิชาการ นั่งถกกันเรื่องพนักงานโรงงานผลิต Pop Corn เสียชีวิตด้วยโรคปอด อันเกิดจากการสูดดมสารที่ใช้แทนกลิ่นเนย ถกกันเป็นเรื่องเป็นราว

ในขณะที่บ้านเรา พนักงานทำงานท่ามกลางฝุ่นควัน สารเคมีอันตรายมากมาย บางสถานประกอบการเลี่ยงข้อกฏหมายด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงาน กดขี่ค่าแรง เอาเปรียบเรื่องความเป็นอยู่ ความแตกต่างมันไม่ได้อยู่ที่ความรู้ความสามารถของบุคคลากรอย่างเดียว แต่มันเป็นที่ระบบการบริหารจัดการในภาพรวม มันไม่มีจริงๆ ถึงมีก็ไม่ได้ถุกใช้งาน ถึงถูกใช้งานก็เลือกปฏิบัติ ถึงเลือกปฏิบัติเห็นกันแบบโต้งๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ ไอ้ห่าเอ๊ย อนาถใจ (เอาแค่นี้ เดี๋ยวอารมย์การเมืองพลุ่งพล่าน)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ALARP

IT for Safety management system

Emergency Pre-Planning